1-2-3-4 มือถือ Gen ไหนคุณทันใช้บ้าง [ดักแก่!]

2,824 views

 

สวัสดีคร๊าบบบ! เน่ๆ คุณเป็นคนนึงที่คอยเฝ้าติดตามข่าวสารเทคโนโลยีในแวดวงโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องจากเพจและเว็บของ Oopsmobile มาโดยตลอดอ๊ะป่าว! ถ้าใช่ จุ๊จุ๊ ผมมีอะไรจะบอก เอียงหูเข้ามาใกล้ๆสิ

 

“ปุกาดๆ! ตอนนี้เว็บ Oopsmobile เค้าเพิ่มหมวดหมู่หรือ Catagory ที่เป็นบทความหรือเนื้อหาที่เป็นสาระประโยชน์ที่อัดแน่นเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆที่มีอยู่บนโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนมาให้แฟนๆได้ติดตามอ่านกันแล้วนะจ๊ะ…รู้ยางงงงง!”

 

โดยกระผมผู้ที่เฝ้าตามติดเทคโนโลยีของอุปกรณ์สื่อสารมาตั้งแต่ยุคเพจเจอร์หรือยุคที่พี่ เจ เจตริน ยังไม่เข้าวงการ ^^ จะเข้ามารับหน้าที่เป็นผู้นวดเฟ้นข้อมูลเหล่านี้ให้ได้ที่จนพร้อมเสิร์ฟแล้วนำมาวางไว้บนหน้าเว็ป Oopsmobile ให้ทุกๆท่านได้คอยติดตามอ่านกันเป็นระยะๆ ซึ่งกระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ท่านผู้อ่านที่เคยมีข้อสงสัยในหลายๆประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆบนโทรศัพท์มือถือได้คลายข้อสงสัยกันหรืออาจช่วยให้เข้าใจถึงรายละเอียดต่างๆเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น

 

ถ้าอย่างนั้นบทความสำหรับการเปิดตัวในครั้งแรกนี้ ผมขอยกเอาเรื่องประวัติความเป็นมาของโทรศัพท์มือถือนับตั้งแต่ในยุคแรกๆจนถึงยุคปัจจุบันมาเล่าสู่กันฟังดีกว่า ก่อนที่จะนำไปสู่เรื่องราวของเทคโนโลยีต่างๆที่มีอยู่บนโทรศัพท์มือถือกันอย่างจริงจังในโอกาสต่อๆไป ว่าแล้วจะรอช้าอยู่ใย…ไปดูกันเล๊ยยยย!

 

วิวัฒนาการของโทรศัพท์มือถือ

 

ยุค 0G หรือ Zeroth Generation

 

bell from-backpack-transceiver-smartphone-visual-history-mobile-phone.w654 (2)

 

การสื่อสารด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์มือถือในยุคแรกๆ จะเป็นการสื่อสารกันด้วยวิทยุสื่อสารไร้สายในระบบอนาล็อค (Analog) ผ่านคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Waves) โดยจะเป็นการสื่อสารกันในแบบกึ่งสองทาง (Half Duplex) คือ ผลัดกันเป็นผู้รับและผู้ส่ง หรือสลับกันพูด จะพูดพร้อมกันในเวลาเดียวกันไม่ได้ เช่น วิทยุสื่อสารที่ใช้ติดต่อกันระหว่างเรือกับเรือ หรือรถไฟกับรถไฟในสมัยนั้น ฯลฯ ต่อมาหลังผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายๆประเทศเริ่มพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านการสื่อสารด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่กันอย่างจริงจัง โดยมีบริษัท Bell Mobile System ของอเมริกาได้เข้ามาริเริ่มปรับปรุงโครงสร้างการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นรายแรก แต่ก็ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเต็มระบบ เพราะยังรองรับการโทรพร้อมๆกันได้น้อยและมีค่าใช้จ่ายที่แพงมาก ซึ่งตรงนี้เองที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุค 0G หรือ Zeroth Generation

 

ยุค 1G หรือ First Generation

 

phone01

ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกจึงได้ถือกำเนิดขึ้นโดยเป็นผลงานการคิดค้นร่วมกันของนาย John F.Mitchell และนาย Martin Cooper จากบริษัท Motorola ซึ่งโทรศัพท์เครื่องนี้มีน้ำหนักมากถึงเกือบ 2 กิโลกรัม แถมยังต้องชาร์จไฟนานถึง 10 ชั่วโมงเพียงเพื่อให้ใช้งานโทรศัพท์ได้นานแค่ 30 นาที ถัดมาหลังจากนั้นอีก 6 ปี บริษัท NTT ก็ได้เปิดตัวเครือข่ายโทรศัพท์มือถือระบบอัตโนมัติในเชิงพาณิชย์ขึ้นในญี่ปุ่นเป็นรายแรก พร้อมๆกับการที่ Motorola ก็ได้เปิดตัว DynaTAC 8000X ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือรุ่นแรกที่ได้รับอนุญาตให้นำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ และหลังจากนั้นก็ตามมาด้วยการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือในระบบอื่นๆจากอีกหลายประเทศ เช่น ระบบนอร์ดิก (NMT : Nordic Mobile Telephone System) ที่มีให้บริการในกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียนอย่าง เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ซึ่งในปี พ.ศ. 2529 ประเทศไทยเองโดยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยก็ได้นำเอาระบบนี้เข้ามาใช้ แต่ได้ปรับเปลี่ยนความถี่ใช้งานจาก 450 MHz มาเป็น 470 MHz โดยให้ชื่อว่าระบบ NMT470 ซึ่งนับได้ว่าเป็นระบบโทรศัพท์มือถือระบบแรกที่ถูกนำมาใช้ในประเทศไทย โดยในระยะแรกเปิดให้บริการเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ปริมลฑล และจังหวัดชายฝั่งด้านตะวันออก ก่อนขยายการให้บริการไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา สำหรับตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ถูกนำมาใช้งานในระบบ NMT470 นี้ จะมีหน้าตาคล้ายกระเป๋าหิ้ว และมีน้ำหนักมาก พูดแบบนี้คนที่เป็นผู้ใหญ่หลายท่านคงนึกภาพออกกันนะครับ ^^

 

123

ต่อมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ประเทศไทยโดยการสื่อสารแห่งประเทศไทยยังได้นำเอาระบบ AMPS (Advance Mobile Phone System) ที่ใช้งานบนความถี่ 800 MHz เข้ามาเปิดให้บริการด้วย โดยใช้ชื่อว่าระบบ AMPS800 ซึ่งผมเชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินชื่อนี้เพราะเป็นระบบที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนั้น ด้วยข้อดีที่ว่าตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ถูกนำมาใช้งานกับระบบนี้ จะมีขนาดเล็กทำให้พกพาไปไหนมาไหนได้สะดวกกว่านั่นเอง

 

ในช่วงที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเปิดให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในระบบ NMT470 เป็นครั้งแรกในประเทศไทยนั้น ก็ได้มีการกำหนดรหัสสำหรับการเรียกเข้าสู่ระบบโทรศัพท์มือถือที่เป็นการเฉพาะขึ้น นอกเหนือจากรหัสทางไกลสำหรับโทรไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยรหัสที่กำหนดคือ 01 ซึ่งผู้ที่ต้องการติดต่อหรือโทรเข้ายังระบบโทรศัพท์มือถือต้องใส่รหัส 01 แล้วตามด้วยหมายโทรศัพท์มือถือ 7 หลัก ซึ่งภายหลังผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือในระบบ AMPS800 ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเอง ก็ถูกปรับให้มาใช้รหัสเลขหมายที่ขึ้นต้นด้วย 01 นี้ด้วยเช่นกัน

 

2phone

การเปิดให้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบต่างๆที่กล่าวมาในช่วงยุคตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 จนมาถึงราวๆปี พ.ศ. 2533 จะให้บริการรับส่งข้อมูลเฉพาะที่เป็นเสียง (Voice) หรือเป็นการโทรเข้าและรับสายอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถรับส่งข้อมูลที่เป็น Data อย่างเช่น ข้อความหรือ SMS ได้ จึงถูกจัดให้เป็นระบบโทรศัพท์มือถือในยุค 1G หรือ First Generation เนื่องจากเทคโนโลยีของระบบโทรศัพท์มือถือที่ใช้ยังคงเป็นแบบอนาล็อค (Analog) ซึ่งยังคงใช้หลักการพื้นฐานของการส่งสัญญาณแบบ FDMA (Frequency Division Multiple Access) อยู่ โดยอาศัยวิธีการแบ่งช่องความถี่ออกเป็นความถี่ย่อยหลายๆช่องแล้วใช้สัญญาณคลื่นวิทยุเป็นตัวนำพาคลื่นเสียงส่งไปยังสถานีรับ แต่ทั้งนี้เนื่องจากในทุกๆ 1 คลื่นความถี่จะเท่ากับ 1 ช่องสัญญาณ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นมาในเวลานั้นจะสามารถใช้บริการโทรศัพท์ได้เฉพาะในช่องความถี่ที่ว่างอยู่เท่านั้น ส่งผลให้เมื่อมีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ระบบก็ไม่สามารถรองรับการให้บริการพร้อมๆกันได้ จึงทำให้ระบบโทรศัพท์มือถือในยุคนี้ไม่ได้รับความนิยมมากนักและก่อให้เกิดเป็นแรงผลักดันเพื่อการพัฒนาไปสู่ระบบโทรศัพท์มือถือในยุคถัดไป

 

ยุค 2G หรือ Second Generation

 

3310หลังจากนั้นในปีต่อๆมาจึงได้มีการพัฒนารูปแบบของการสื่อสารไร้สายจากเดิมที่เป็นการส่งสัญญาณเสียงผ่านคลื่นความถี่วิทยุในระบบอนาล็อค (Analog) มาเป็นการเข้ารหัสสัญญาณเสียงในระบบดิจิตอล (Digital) ก่อนที่จะถูกส่งผ่านไปบนคลื่นความถี่ไมโครเวฟที่อาศัยหลักในการส่งสัญญาณแบบ TDMA ซึ่งในการเข้ารหัสสัญญาณในระบบดิจิตอลนี้ แน่นอนว่านอกจากจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูลได้มากกว่าระบบอนาล็อคเดิมแล้ว ยังช่วยในเรื่องของคุณภาพของสัญญาณเสียงที่ได้ในระหว่างที่มีการติดต่อสื่อสารกันก็จะยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วย โดยในยุคนี้นอกจากตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือจะมีขนาดที่เล็กลงและบางเบาขึ้นแล้ว ยังได้เริ่มมีการนำเอาซิมการ์ดมาใช้ และถือเป็นยุคแรกของการเริ่มต้นใช้งาน Data ด้วยการเปิดให้บริการรับส่งข้อความสั้นๆที่เป็น Short Message Service หรือ SMS ร่วมด้วย

 

cellularนอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือจากเดิมที่เป็นระบบอนาล็อคเซลลูล่าร์ (Analog Cellular) มาเป็นระบบดิจิตอลเซลลูล่าร์ (Digital Cellular) เพื่อรองรับการใช้งานร่วมกับโทรศัพท์มือถือในระบบเซลลูล่าร์ต่างๆที่จะตามมา โดยโทรศัพท์มือถือในระบบเซลลูล่าร์นี้จะติดต่อกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือผ่านทางการเชื่อมต่อกับสถานีฐานหรือ Cell Site ที่ในแต่ละจุดจะถูกกำหนดให้ดูแลครอบคลุมพื้นที่ใช้งานของตัวเองที่ถูกแบ่งออกเป็น เซลล์ (Cell) ทำให้นอกจากจะปลอดภัยจากการดักฟังแล้ว ยังช่วยให้เกิดการโทรข้ามประเทศหรือ International Roaming ได้อีกด้วย เพราะระบบดิจิตอลเซลลูล่าร์ถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานที่หลายๆประเทศจะต้องใช้งานร่วมกัน และนี่เองจึงก่อให้เกิดเป็นที่มาของคำว่า GSM หรือ Global System for Mobile ที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆจนคุ้นหูนั่นเอง

 

2.5G

 

544e0a5440b43หลังจากนั้นมาตรฐาน GSM ก็ได้ถูกพัฒนาให้มีขีดความสามารถที่จะรองรับการสื่อสารข้อมูลด้วยอัตราความเร็วที่สูงยิ่งขึ้นจนทำให้เกิดเป็นมาตรฐาน GPRS ที่ในทางทฤษฏีจะรองรับความเร็วสูงสุดได้ถึง 115 Kbps (ในทางปฏิบัติอาจถูกจำกัดไว้แค่ 40 Kbps) ซึ่งช่วยให้สามารถรับส่งข้อมูลที่เป็น ข้อความ ภาพ และเสียงที่อยู่ในรูปแบบของมัลติมีเดียต่างๆหรือที่เรียกว่า MMS (Multimedia Messaging Service) ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ อีกทั้งในยุคนี้ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงหน้าจอโทรศัพท์ให้รองรับการแสดงผลที่เป็นสีสันต่างๆมากขึ้น รวมไปถึงเสียงเรียกเข้าก็ได้ถูกพัฒนาจาก Monotone มาเป็น Polyphonic ที่ให้ระดับและคุณภาพของเสียงที่ไพเราะยิ่งขึ้น ก่อนจะพัฒนามาเป็น MP3 ในอีกหลายปีถัดมา

 

2.75G

 

nokiaN95_1691092iก้าวเข้าสู่ยุคของ EDGE ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก GPRS ให้รองรับการสื่อสารข้อมูลด้วยความเร็วที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในทางทฤษฏีจะมีความเร็วสูงสุดได้ถึง 384 Kbps แต่ในทางปฏิบัติความเร็วในระดับนี้คงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะด้วยข้อจำกัดของระบบที่ต้องมีการแบ่งช่องสื่อสารสำหรับการใช้งานด้านเสียงไว้ด้วย เนื่องจากในยุคนี้เรายังไม่สามารถใช้งาน Data กับ Voice ไปพร้อมๆกันได้ ตรงจุดนี้ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้มีโอกาสสัมผัสกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมาตรฐาน EDGE กันมาบ้างแล้ว
สรุปว่าระบบโทรศัพท์มือถือในยุค 2G หรือ Second Generation นอกจากจะเป็นประตูเปิดสู่โลกในยุคดิจิตอลของระบบโทรศัพท์มือถือแล้ว ยังเป็นประตูเปิดสู่ยุคของการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถืออย่างแท้จริงอีกด้วย เพราะนอกจากตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือในยุคนี้จะถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เช่น เป็นหน้าจอสี มีกล้องถ่ายรูป ใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ และใช้หน่วยประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นแล้ว ยังเป็นยุคเดียวกับที่บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือหลายๆรายทั่วโลกต่างก็หันมาเปิดตัวโทรศัพท์มือถือหรือที่ในภายหลังถูกเรียกว่าสมาร์ทโฟน (SmartPhone) ขึ้นในประเทศไทย โดยเป็นการให้บริการในระบบ 2G ที่ใช้มาตรฐาน GSM บนคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz

advertisements

 

ยุค 3G หรือ Third Generation

 

iphone_3g_16gb_black_front_600x600นับตั้งแต่ยุค 2G เป็นต้นมา ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการในการใช้งาน Data บนโทรศัพท์มือถือนับวันก็ยิ่งดูจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นทางออกจึงต้องทำให้ระบบโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่มีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก ในปี พ.ศ. 2544 หรือผ่านมาอีก 10 ปี ระบบโทรศัพท์มือถือในยุค 3G หรือที่เรียกว่าระบบ UMTS (W-CDMA) ซึ่งเป็นระบบที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากยุค 2G จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยเป็นการนำเอาข้อดีของระบบเครือข่ายบนมาตรฐาน CDMA ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยสหรัฐฯมาปรับใช้กับระบบ GSM ในเมืองไทยที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยกลุ่มประเทศในแถบยุโรป โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU เป็นผู้กำหนดให้คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz เป็นคลื่นความถี่มาตรฐานสำหรับใช้ในการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่างๆที่รองรับเทคโนโลยี 3G เพื่อให้ในทุกๆประเทศใช้เป็นมาตรฐานกลางร่วมกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโทรศัพท์มือถือแทบทุกรุ่นทุกยี่ห้อที่ถูกผลิตออกมาขายจะรองรับการใช้งานบนคลื่นความถี่ 2100 MHz เป็นหลักแทบทั้งสิ้น ส่วนจะมีคุณสมบัติรองรับความถี่ย่านอื่น เช่น 850, 900, 1800 และ 1900 MHz ด้วยหรือไม่นั้น ตรงนี้ถือเป็นทางเลือกของผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ตามมาตรฐานสากลแล้วการใช้งานที่เข้าข่ายหรือถูกจัดว่าเป็นเทคโนโลยี 3G จะต้องมีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลไม่ต่ำไปกว่า 2 Mbps (ในขณะใช้งานอยู่กับที่หรือในขณะเดิน) และต้องมีอัตราความเร็วไม่น้อยไปกว่า 384 Kbps (ในขณะใช้รถหรือในขณะวิ่ง) ซึ่งถ้าหากมีอัตราความเร็วที่ต่ำไปกว่านี้ก็จะถูกปรับเปลี่ยนไปใช้เป็น EDGE แทน นอกจากนี้โทรศัพท์มือถือที่รองรับกับเทคโนโลยี 3G จะต้องใช้งานร่วมกับโครงข่ายอื่นๆทั่วโลกได้ด้วย

 

3.5G

 

2012-iphone4s-gallery1-zoomเป็นการต่อยอดจากเทคโนโลยี 3G เดิม ในระบบ UMTS (W-CDMA) ที่มีความเร็วสูงสุดเพียง 384 Kbps มาเป็น 3.5G ในระบบ UMTS (HSDPA) ที่ในช่วงแรกมีการเพิ่มอัตราความเร็วสูงสุดในการรับส่งข้อมูลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝั่งขาลงหรือดาวน์โหลดให้สูงขึ้นเป็น 14.4 Mbps/384 Kbps (Download/Upload) แต่ในทางปฏิบัติผู้ให้บริการต่างๆยังคงจำกัดความเร็วไว้ให้ใช้งานจริงเพียงแค่ 7.2 Mbps เท่านั้น และในช่วงต่อมาก็ได้มีการพัฒนาการรับส่งข้อมูลทางฝั่งขาขึ้นหรือการอัพโหลดให้มีความเร็วเพิ่มสูงขึ้นเป็น 5.76 Mbps โดยให้ชื่อว่าระบบ HSUPA ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานเมื่อรวมทั้ง 2 ระบบคือ HSDPA และ HSUPA เข้าไว้ด้วยกัน จนกลายมาเป็น 3.5G ในระบบ UMTS (HSPA) ที่ถูกใช้งานกันแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งมีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดเป็น 14.4 Mbps/5.76 Mbps (Download/Upload) นั่นเอง

 

3.9G

 

images_13474844861สั้นๆก็คือเป็นการต่อยอดจาก 3.5G ในระบบ UMTS (HSPA) เดิม ให้มีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดขยับเพิ่มขึ้นไปอีกเป็น 42 Mbps/22 Mbps (Download/Upload) แล้วให้ชื่อเรียกเสียใหม่ว่าเป็น 3.9G ในระบบ UMTS (HSPA+) นั่นเอง

 

ก่อนจะไปต่อเดี๋ยวขออธิบายเพิ่มเติมไว้ตรงนี้นิดนึงนะครับว่าที่เห็นความเร็วสูงสุดเท่านั้นเท่านี้ เช่น 7.2 Mbps บ้าง 14.4 Mbps หรือ 42 Mbps บ้าง อันนี้อย่าเพิ่งกระหยิ่มยิ้มย่องดีใจไปนะครับว่าเครื่องชั้นแพ็คเกจชั้นต้องได้ความเร็วเท่านั้นเท่านี้ไปตลอด บางท่านทราบแต่อีกหลายๆท่านอาจไม่ทราบว่า ผู้ให้บริการมือถือทุกๆรายทั่วโลกจะมีนโยบายที่เป็นมาตรฐานสากลที่ต้องยึดถือเป็นข้อปฏิบัติร่วมกันสำหรับการให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่าย 3G และ 4G บนมือถือ ซึ่งเรียกว่า FUP หรือ Fair Usage Policy

 

 

130619012323772

 

 

นโยบายตรงนี้มีไว้เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการใช้งาน Data ผ่านเครือข่าย 3G และ 4G เพื่อให้ผู้ใช้งานโทรศัพท์สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและใช้งานได้อย่างเหมาะสม โดยคุณจะสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือได้ด้วยความเร็วสูงสุดตามแพคเก็จที่เลือกใช้และที่ตัวเครื่องรองรับไปตลอดจนกว่าปริมาณการใช้งาน Data จะครบตามจำนวนที่ผู้ให้บริการกำหนดไว้ ซึ่งถ้าหากใช้งาน Data ครบตามปริมาณการใช้งานที่กำหนดไว้แล้ว คุณจะได้รับ SMS เตือนว่าคุณใช้แพคเก็จความเร็วสูงสุดครบแล้ว ซึ่งทั้งนี้คุณยังคงสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านบนมือถือได้อยู่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆเพิ่มเติมเพียงแต่คุณจะถูกปรับลดความเร็วในการใช้งานลง จนทำให้ไม่ได้ใช้ความเร็วสูงสุดตามแพคเก็จที่เลือกไว้และที่ตัวเครื่องรองรับไปตลอดจนกว่าจะครบรอบบิลตามแพคเก็จที่คุณเลือก เช่น หากคุณเลือกใช้แพคเก็จรายเดือนแบบไม่จำกัดการใช้งาน 3G/4G หรือ Unlimited ความเร็วที่คุณจะสามารถใช้งานได้ทั้งก่อนและหลังที่คุณจะใช้งาน Data ครบตามปริมาณที่กำหนดของผู้ให้บริการแต่ละรายในประเทศไทยสามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้

 

  • AIS 3G/4G ใช้ความเร็วสูงสุดได้ 7.2 Mbps (HSPA) หลังจากใช้งาน Data ครบ 3 GB แล้วความเร็วจะลดลงเหลือเพียง 384 Kbps
  • DTAC 3G/4G ใช้ความเร็วสูงสุดได้ 42 Mbps (HSPA) หลังจากใช้งาน Data ครบ 1-3 GB แล้ว ความเร็วจะลดลงเหลือเพียง 128 หรือ 384 Kbps (แล้วแต่แพคเก็จย่อยๆ)
  • TRUE 3G/4G ใช้ความเร็วสูงสุดได้ 42 Mbps (HSPA+) หลังจากใช้งาน Data ครบ 3 GB แล้วความเร็วจะลดลงเหลือเพียง 128 Kbps

 

ที่ผู้ให้บริการมือถือแต่ละค่ายทำเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้นำอินเตอร์เน็ตบนมือถือมาใช้งานในแบบที่ผิดวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น โหลดบิท โหลดหนัง หรือส่งคลิปวิดีโอขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีการรับส่งข้อมูลในปริมาณมาก หากนำไปใช้งานในลักษณะนี้พร้อมๆกันหลายคน อาจส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการและผู้ใช้งาน Data ปกติบนมือถือคนอื่นๆที่อยู่บนเครือข่ายด้วย เพราะแบนด์วิธจะถูกดึงไปใช้จนทำให้คนอื่นๆที่อยู่บนเครือข่ายได้รับความเร็วลดลงนั่นเอง

 

กลับมาเข้าเรื่องกันต่อไหนๆก็พูดถึงข้อกำหนดต่างๆที่ใช้เป็นมาตรฐานกลางสำหรับเทคโนโลยี 3G และความเร็วในยุคต่างๆของ 3G กันไปแล้ว ทีนี้มาพูดถึงจุดเด่นกันบ้าง จุดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ถือได้ว่ามีความเร็วมากพอที่จะรับส่งไฟล์ขนาดใหญ่หรือเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆบนอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งยังรองรับการเปิดดูคลิปวิดีโอหรือแม้แต่การเปิดดูรายการถ่ายทอดสดต่างๆ ตลอดไปจนถึงการใช้งาน Data ที่สามารถใช้งานไปพร้อมๆกับการสนทนาหรือพูดคุยโทรศัพท์ได้ด้วยอย่าง Video Call เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ในยุค 2G ยังทำไม่ได้ และจุดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่างก็คือ มันจะมีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอยู่ตลอดเวลา (Always On) เพื่อคงสถานะการออนไลน์เอาไว้ แม้การเชื่อมต่ออาจจะหลุดไปเองในบางครั้งแต่มันก็จะกลับมาเชื่อมต่อใหม่ให้เองโดยอัตโนมัติเสมอ คล้ายๆกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบ High Speed ที่บ้านคุณนั่นแหละ คือไม่ต้องมาคอย Log-On เพื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายเวลาที่จะใช้งานอินเทอร์เน็ตในแต่ละครั้งเหมือนกับโทรศัพท์มือถือในยุค 2G นั่นเอง

 

ยุค 4G หรือ Fourth Generation

 

iphone6-gold-select-2014นับตั้งแต่มีเทคโนโลยี 3G โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนได้ถูกพัฒนาไปเร็วมาก ทำให้เราสามารถเข้าถึงและใช้งานอินเตอร์เน็ตได้จากบนมือถือตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เราสามารถพูดคุยโทรศัพท์แล้วมองเห็นหน้ากันและกันในแบบ Realtime ได้ ทำให้เราสามารถดูทีวีออนไลน์ที่เป็นรายการสดต่างๆได้จากบนมือถือในทุกๆที่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นวิวัฒนาการอันน่าทึ่งของเทคโนโลยี 3G ที่ช่วยให้การรับส่งข้อมูลปริมาณมากๆผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องง่ายๆสำหรับทุกคน แต่ก็ใช่ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านความเร็วของการรับส่งข้อมูลบนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือจะเพียงพอและหยุดนิ่งอยู่เพียงแค่นี้ เพราะที่ผ่านมาการใช้งาน 3G ต้องขอบอกเลยว่ายังพบกับปัญหาต่างๆอยู่อีกมากมาย เช่น เน็ตหลุด สัญญาณข้ดข้อง ภาพกระตุก ความเร็วในการรับส่งข้อมูลถูกจำกัด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนกลายเป็นแรงผลักดันก่อให้เกิดเป็นการพัฒนาไปสู่ยุคถัดไปนั่นคือเทคโนโลยี 4G นั่นเอง

 

111ระบบโทรศัพท์มือถือในยุค 4G ได้ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบโทรศัพท์มือถือในยุคก่อนๆให้มีประสิทธิภาพและมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งความเร็วบนมาตรฐาน 4G นั้น ได้ถูกกำหนดไว้ที่ 1 Gbps แต่ด้วยขีดจำกัดทางด้านเทคโนโลยีและความพร้อมของผู้ให้บริการ จึงทำให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลบนมาตรฐาน 4G ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ยังมีความเร็วไม่ถึงตามที่กำหนด โดยที่ใช้ๆกันอยู่จะมีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลอยู่ที่ 100 -120 Mbps เท่านั้น แต่ด้วยความเร็วที่สูงขึ้นนี้ก็ยังช่วยให้เราสามารถใช้งานโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อื่นๆที่รองรับกับเทคโนโลยี 4G นี้ได้หลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งการดูวิดีิโอออนไลน์ด้วยความคมชัดและไม่มีการกระตุก, การโทรฯข้ามประเทศแบบมองเห็นหน้ากันและกันที่สามารถโต้ตอบกันได้ทันที ณ ขณะนั้น (Video Call) และการประชุมทางไกลผ่านโทรศัพท์ (Tele-Conference) ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้เข้าร่วมประชุมที่อยู่นอกสำนักงาน เป็นต้น

 

ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีของระบบโทรศัพท์มือถือในยุค 4G จริงๆแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 ระบบด้วยกัน คือ WiMAX ซึ่งจะนิยมใช้แค่ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, ไต้หวัน และบังคลาเทศ กับ LTE หรือ Long Term Evolution ที่ซึ่งเป็นระบบที่ถูกนำมาใช้กันแพร่หลายในบ้านเราเวลานี้ โดยอุปกรณ์สื่อสารที่สามารถรองรับการใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี 4G LTE ได้นี้ ก็จะมีรูปร่างหน้าตาที่เหมือนๆกันกับอุปกรณ์สื่อสารที่รองรับกับเทคโนโลยี 3G ที่เราใช้ๆกันอยู่นี่แหละ เพียงแต่มีชิปที่รองรับกับเทคโนโลยี 4G LTE ติดตั้งอยู่ในเครื่อง

 

1409162387973screencapture  4GTechno

 

ปัจจุบันในประเทศไทยหลังจากผ่านพ้นการประมูลคลื่นความถี่ 4G ไปแล้ว ผู้ให้บริการจาก 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ในประเทศที่ประมูลได้ไปคือ AIS, True Move H และ Dtac ต่างก็ไปจัดเตรียมและปรับปรุงเครือข่ายของตนที่มีอยู่แล้วเกือบทั่วประเทศให้รองรับกับการเปิดให้บริการ 4G ในอนาคต โดยปัจจุบัน True Move H ถือเป็นค่ายแรกที่ได้เปิดให้บริการใช้งาน 4G LTE บนคลื่นความถี่ 2100 MHz ไปแล้ว ที่ถึงแม้คลื่นดังกล่าวจะถูกประมูลมาเพื่อใช้ทำ 3G ก็ตาม แต่ True Move H ก็ได้ถือโอกาสแบ่งคลื่นความถี่บางส่วนมาใช้ทำ 4G ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ถ้าลูกค้าจะใช้บริการ 4G LTE ของ True Move H ตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์สื่อสารที่นำมาใช้นอกจากจะต้องรองรับกับเทคโนโลยี 4G LTE แล้ว ก็จะต้องรองรับการใช้งานบนคลื่นความถี่ 2100 MHz ด้วย ส่วนอีกสองค่ายที่เหลือคือ AIS และ Dtac กำลังอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบการใช้งาน ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้น่าจะเตรียมเปิดให้บริการ 4G LTE บนคลื่นความถี่ 2300 MHz สำหรับ AIS และคลื่นความถี่ 2100 MHz สำหรับ Dtac แล้วด้วยเช่นกัน

 

4.5G

 

qualcomm_carrier_aggregationเป็นระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ถูกพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นจาก 4G LTE เดิม ให้มีความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจนกลายมาเป็น 4.5G LTE-Advanced หรือ 4.5G ( LTE-A ) ซึ่งมีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 150 Mbps หรือประมาณให้เข้าใจง่ายๆก็คือ สามารถดาวน์โหลดไฟล์หนังขนาด 1GB ให้เสร็จได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 นาทีนั่นเอง นอกจากนี้ LTE-A ยังสามารถทำงานร่วมกับระบบ LTE เดิมได้ แต่อาจไม่สามารถใช้งานลูกเล่นใหม่ๆ บางประการของ LTE-A บนระบบ LTE ได้

 

Samsung-Galaxy-S4-LTE-A

 

ระบบ LTE-A จะมีประโยชน์ทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นด้านความเร็วของระบบที่สูงขึ้นมาก, การใช้คลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ, สัญญาณบริเวณขอบเซลล์ที่ดีขึ้น, เซลล์ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น ตลอดจนช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารจัดการโครงข่ายที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ปัจจุบันเริ่มมีบางประเทศอย่างเช่นเกาหลีใต้ ได้เริ่มให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในระบบ LTE-A นี้กันแล้ว อีกทั้งโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆภายในปีนี้ก็อาจที่จะรองรับระบบ LTE-A นี้กันมากขึ้นด้วย

 

“เทคโนโลยีสมาร์ทโฟน”ตอนต่อไป

โทรศัพท์มือถือยุคใหม่ หัวใจอยู่ที่ “ชิปประมวลผล”

ARM กับ X86, RISC กับ CISC มหาอำนาจต่างขั้วบนโลกของซีพียู

ชิปประมวลผล ARM และ Intel (x86) บนสมาร์ทโฟน

(ต่อ) ชิปประมวลผล ARM และ Intel (x86) บนสมาร์ทโฟน