เลือก Wearable Device อย่างไรให้เหมาะกับคุณ

1,166 views

 

wearable-device-all
 

นับว่าช่วงนี้เป็นยุคของ Wearable Device หรืออุปกรณ์สวมใส่ดิจิตอลเพื่อสุขภาพ ที่มีออกมาให้เลือกหลายแบบ หลายสไตล์ แต่คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าอุปกรณ์ตัวไหนที่เหมาะกับความต้องการของคุณ ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจกับเรื่องกันดีกว่า

 

Wearable Device คืออะไร?

หากจะให้ความหมายโดยรวมของ Wearable Device ที่สามารถเข้าใจง่ายๆ คงหมายถึง อุปกรณ์สวมใส่เข้ากับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของนาฬิกา, แว่นตา, กำไรข้อมือ, สายรัดข้อมือ ฯลฯ โดยมันจะทำหน้าที่ตรวจวัดค่าต่างๆ ด้านสุขภาพ หรือแสดงผลข้อมูล การแจ้งเตือน ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน หรือไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน โดยมันสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต หรือซิงค์ข้อมูลกับคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนได้ ซึ่งภายในระบบคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋ว ที่ประกอบด้วยหน่วยประมวลผล เซนเซอร์ต่างๆ และหน่วยความจำ เพื่อใช้บันทึกข้อมูล และสามารถแสดงผลบนหน้าจอได้ หรือบางรุ่นก็ไม่มีหน้าจอต้องซิงค์ร่วมกับสมาร์ทโฟนเพื่อดูข้อมูล โดย Wearable Device จะมีทั้งแบบที่ต้องเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน และแบบที่ไม่ต้องพึ่งการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้อีกด้วย

 

Wearable Device มีกี่ประเภท?

และคำถามถัดมาที่หลายคนสงสัยคือ Wearable Device มันมีกี่ประเภท แล้วแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร เราควรเลือกใช้แบบไหนถึงจะเหมาะกับการใช้งาน ซึ่งจะขอแบ่งตามประเภทการใช้งานดังนี้เลยครับ

 

สายรัดข้อมือ Smart Band

Sony-smartwatch3-03

สำหรับ Wearable Device แบบ Smart Band หรือที่เป็นสายรัดข้อมือนั้น ส่วนใหญ่จะออกแบบมาเพื่อการใช้งานสำหรับคนรักสุขภาพ เพราะมันจะเน้นไปที่การตรวจจับสุขภาพของเรา ไม่ว่าจะเป็น การนับจำนวนก้าวเดินหรือวิ่งในแต่ละวัน เพื่อคำนวณการเผาผลาญแคลอรี่, วัดระยะทางได้ด้วย GPS, ตรวจจับการนอนว่าเราหลับสนิทไปกี่ชั่วโมง, ตั้งปลุกโดยให้สั่นเตือนได้ หรือกระทั่งคำนวนแคลอรี่จากอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยซิงค์ข้อมูลร่วมกับสมาร์ทโฟน ทั้งนี้บางรุ่นก็สามารถใช้ควบคุมการเล่นเพลงได้อีกด้วย รวมถึงยังสามารถแชร์ข้อมูลไปยังโซเชียลเน็ตเวิร์คเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กันผู้ใช้ร่วมกัน ทำให้เกิดความท้าทายมากยิ่งขึ้น

 
Smart Band ยังถูกแบ่งย่อยออกไปหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่เป็นกำไร หรือสายรัดข้อมือที่ไม่มีหน้าจอ และแบบที่มีจอแสดงผลในตัว ซึ่งก็ต่างดีไซน์ออกมาให้เป็นเครื่องประดับไฮเทคไปในตัว

 
คุณสมบัติหลักๆ ที่ Smart Band ต้องมี
• ตรวจวัดจำนวนก้าวเดิน/วิ่งได้
• มี GPS วัดระยะทาง
• ตรวจจับการนอน
• คำนวณการเผาผลาญแคลอรี่
• ซิงค์ร่วมกับสมาร์ทโฟนได้
• แบตเตอรี่อยู่ได้นานอย่างน้อย 7 วัน ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง (รุ่นที่มีหน้าจออาจจะน้อยกว่า)

*หมายเหตุบางรุ่นอาจจะไม่มีคุณสมบัติบางอย่าง

 
Smart Band เหมาะกับใคร : เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนรักสุขภาพ เน้นใส่ติดตัวไว้ตลอดเวลา เพราะตรวจวัดการเผาผลาญแคลอรี่ จากกิจกรรมต่างๆ รวมถึงตรวจจับการนอนว่าเรานอนหลับไปกี่ชั่วโมง เพียงพอกับการพักผ่อนแล้วหรือยัง และที่สำคัญใครที่ไม่อยากวุ่นว่ายกับการโหลดแอพ ตั้งค่าให้มากมาย รวมถึงไม่ต้องเสียเวลาชาร์จแบตทุกวัน Smart Band ก็ตอบโจทย์คุณได้แล้วครับ

 

นาฬิกาอัจฉริยะ Smart Watch

AplWatch42_34R_HomeScreen_HERO

สำหรับ Smart Watch หรือนาฬิกาอัจฉริยะ ซึ่งแน่นอนว่ามันใช้สวมใส่แทนนาฬิกาข้อมือได้เลย แต่สิ่งที่เหนือกว่านาฬิกาคือมันจะมาพร้อมหน้าจอที่สามารถสัมผัสที่ควบคุมแอพพลิเคชั่นต่างๆ ภายในตัวได้ หรือบางรุ่นก็อาจจะใช้ปุ่มแทนหน้าจอสัมผัส โดยความสามารถหลักๆ ก็จะคล้ายกับ Smart band ในการตรวจวัดสุขภาพต่างๆ แต่จะเพิ่มเซนเซอร์ตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจขึ้นมา เซนเซอร์วัดระดับความสูง  เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ เซนเซอร์วัดรังสียูวี และในบางรุ่นสามารถใส่ซิมเพื่อโทรออกและเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในตัวได้อีกด้วย สิ่งสำคัญอีกอย่างของ Smart Watch คือระบบปฏิบัติการในตัว ที่จะใช้ขับเคลื่อน ซึ่งในปัจจุบันมีระบบปฏิบัติการที่ออกแบบมาโดยเฉพาะอย่าง Android Wear และ Tizen (Samsung) และในต้นปี 2015 ก็จะมี Apple Watch ออกมาอีก 1 แพลตฟอร์ม ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นเพิ่มเติมได้เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟน

advertisements

 
คุณสมบัติหลักๆ ที่ Smart Watch ต้องมี

• ใช้สวมใส่แทนนาฬิกาข้อมือ
• ตรวจวัดจำนวนก้าวเดิน/วิ่งได้
• มี GPS วัดระยะทาง
• มีหน้าจอแสดงผลขนาดใหญ่
• ควบคุมผ่านหน้าจอระบบสัมผัส หรือปุ่มควบคุม
• คำนวณการเผาผลาญแคลอรี่
• มาพร้อมเซนเซอร์ วัดอัตราการเต้นของหัวใจ, วัดระดับความสูง, วัดอุณหภูมิ, วัดรังสียูวี
• บางรุ่นใส่ซิมโทรศัพท์ได้
• ซิงค์ร่วมกับสมาร์ทโฟนได้
• มีแอพพลิเคชั่น และติดตั้งเพิ่มเติมได้
• แบตเตอรี่อยู่ได้นานอย่างน้อย 1-2 วัน ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง (บางรุ่นอยู่ได้ถึง 7 วัน เพราะใช้หน้าจอแบบ E-Paper)

*หมายเหตุบางรุ่นอาจจะไม่มีคุณสมบัติบางอย่าง

 
Smart Watch เหมาะกับใคร : ผู้ที่จะใช้ Smart Watch คือผู้ที่ต้องการฟังก์ชั่นที่หลากหลาย ครบครัน และต้องการติดตั้งแอพพลิเคชั่นเพิ่มเติมลงในตัวเครื่องได้ โดยใช้แทนนาฬิกาข้อมือ และต้องการความสะดวกในการเข้าถึงการแจ้งเตือนต่างๆได้ทันที โดยไม่ต้องยกโทรศัพท์ขึ้นมาดู หรือบางคนที่อยากใช้แบบโทรศัพท์ได้ในตัวก็มีให้เลือกครับ

 

เสื้ออัจฉริยะ Smart Shirt

ralph-lauren-wearable-2014-08-25-01

นอกเหนือจากนาฬิกา หรือสายรัดข้อมือที่ Wearable Device สามารถพัฒนาเข้าถึงมนุษย์ได้แล้ว ยังก้าวล้ำไปถึงเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ ล่าสุด Ralph Lauren Polo เตรียมที่จะผลิตเสื้อ Polo Tech shirt ที่สามารถตรวจจับ อัตราการเต้นของหัวใจ, อัตราการหายใจ รวมถึงสเต็ปการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยจะมีเซนเซอร์ติดอยู่กับเสื้อ และเส้นใย Biosensing Silver Fiber เพื่อตรวจจับ แล้วเชื่อมต่อบลูทูธเพื่อส่งข้อมูลไปยังแอพบน iPhone/iPad ซึ่งสามารถถอดออกได้เมื่อถึงเวลาต้องซักเสื้อ

 

Smart Shirt เหมาะกับใคร : เหมาะกับนักกีฬา หรือผู้ที่รักสุขภาพ ที่ต้องการทราบข้อมูลประสิทธิภาพการออกกำลังกายอย่างละเอียด เพื่อใช้ในการกำหนดเป้าหมายในการออกกำลังกายให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ

 

แว่นตาอัจฉริยะ Glasses


google-glass-sport
Wearable Device อีกประเภทที่เกิดขึ้นจริงแล้วคือ แว่นตาอัจฉริยะ อย่าง Google Glass ที่ผู้ส่วมใส่ สามารถดูข้อมูลผ่านหน้าจอเล็กๆ ใกล้ดวงตา โดยที่เราสามารถมองทะลุไปยังภาพจริงข้างหน้าได้อยู่ เหมือนสวมแว่นตาปกติ แต่มันสามารถแสดงผลข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทั้งเส้นทางที่จะเดิน สภาพการจราจร ข่าว และข้อมูลอื่นๆ ที่หาได้จากเน็ต การควบคุมจะใช้การรับคำสั่งด้วยเสียงเป็นหลัก และต้องเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ยังมีกล้องที่สามารถบันทึกภาพกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นมุมมองเดียวกับสายตาของเรา โดยสามารถถ่ายแล้วแชร์ไปยังโซเชียลเน็ตเวิร์คได้ทันที แม้ว่าตอนนี้ Google Glass จะวางจำหน่ายไปบ้างแล้วในบางประเทศ แต่ด้วยราคาที่ค่อยข้างสูงมาก จึงอาจจะยังไม่เป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้มากเท่ากับ Wearable Device ประเภทอื่น

google_glass_golf_01
ภาพในมุมมองจาก Google Glass

 
Google Glasses เหมาะกับใคร : อันนี้ตอบได้ไม่ยาก เหมาะสมกับคนมีตังค์เหลือใช้ที่สุดครับ 555 เอาจริงๆ ก็คงเหมาะกับคนที่ต้องการข้อมูลแนะนำในแบบทันทีทันใด หรือจะเป็นนักกอล์ฟซึ่งกูเกิ้ลก็มีฟีเจอร์รองรับสำหรับนักกอล์ฟโดยเฉพาะอีกด้วย หรือใครที่ชอบผจญภัยก็สามารถใช้มันเก็บบันทึกภาพในเวลาที่กำลังปีนเขา หรือล่องแก่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมโลดโผนที่ไม่สามารถใช้กล้องถ่ายภาพได้ และอนาคตก็จะมีฟีเจอร์ที่รองรับการทำกิจกรรมต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น